Nesselrode, Karl Robert, Count (1780-1862)

เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต เนสเซลโรเด (๒๓๒๓-๒๔๐๕)

​​

​​
     เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต เนสเซลโรเด เป็นนักการทูตชาวรัสเซียที่มีบทบาทด้านนโยบายต่างประเทศของรัสเซียในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เนสเซลโรเดดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๕๖ และได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษอนุรักษนิยมคนสำคัญที่สนับสนุนคำประกาศพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Alliance) ของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* เขาพยายามขยายอำนาจของรัสเซียเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านแต่อังกฤษและฝรั่งเศสขัดขวางซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)*
     เคานต์เนสเซลโรเดมีชื่อเต็มว่า คาร์ล โรเบียร์ต วาซิลเยวิช (Karl Robert Vasilyevich) เกิดในครอบครัวนักการทูตเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๐ ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส บิดาเป็นคนเชื้อชาติเยอรมันและรับราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำโปรตุเกส ตระกูลของเขามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* แต่อพยพมาอยู่ที่ลิโวเนีย (Livonia) นานแล้ว มารดานับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ แต่เนสเซลโรเดไม่ได้เป็นโปรเตสแตนต์นิกายเดียวกับมารดา เพราะในวัยเยาว์ เขาเข้าพิธีรับศีลเป็นคริสต์ศาสนิกชนในโบสถ์ของสถานทูตอังกฤษ เขาจึงนับถือนิกายอังกฤษ (Church of England) เนสเซลโรเดเข้าศึกษาในโรงเรียนที่กรุงเบอร์ลินซึ่งบิดาของเขาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำราชสำนักปรัสเซียในช่วง ค.ศ. ๑๗๘๗
     ใน ค.ศ. ๑๗๙๖ เนสเซลโรเดในวัย ๑๖ ปี ได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือรัสเซีย ความมีชื่อเสียงและอิทธิพลของบิดาทำให้เขาได้รับตำแหน่งราชองครักษ์ประจำกองทัพเรือของซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑)* ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ เขาย้ายมาประจำการในกองทัพบก ต่อมาเปลี่ยนไปปฏิบัติงานด้านการทูตและถูกย้ายไปประจำสถานทูตรัสเซียที่กรุงเบอร์ลิน และที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ตามลำดับ ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่งฝรั่งเศสทรงปิดล้อมอังกฤษทางเศรษฐกิจด้วยระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* โดยห้ามประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปติดต่อค้าขายกับอังกฤษ เนสเซลโรเดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปทางใต้ของเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ เพื่อสังเกตการณ์และทำรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกองทัพฝรั่งเศส หลังภารกิจครั้งนี้ เขาได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการทูตของนายพลคาเมนสกี (Kamenski) นายพลบุกซ์โฮเดน (Buxhoewden) และนายพลเบนนิกเซน (Bennigsen) ตามลำดับ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๐๗ เขาเข้าร่วมสังเกตการณ์ยุทธการที่อีเลา (Battle of Eylau) และในปลายปีเดียวกันก็มีส่วนร่วมในการเจรจายุติสงครามระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit)* ที่ เมืองทิลซิทเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ หลังการลงนามในสนธิสัญญาทิลซิท เนสเซลโรเดได้เป็นเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปารีส และเขาพยายามสร้างไมตรีกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียขึ้นอีกแต่การที่รัสเซียไม่สามารถปฏิบัติตามระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* อย่างเคร่งครัดได้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงยกทัพเข้าบุกรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๑๒
     เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้ต่อกองทัพรัสเซียในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Fourth Coalition) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ และต่อมาทรงถูกฝ่ายพันธมิตรเนรเทศไปปกครองเกาะเอลบา (Elba) ประเทศมหาอำนาจได้จัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรียระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔ ถึงเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ เนสเซลโรเดเป็นผู้แทนรัสเซียเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ เขาสนับสนุนแนวความคิดให้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๔)* แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* กลับมาครองบัลลังก์ฝรั่งเศสและการใช้หลักทางศาสนาของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เป็นกรอบในการดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศโดยออกเป็นคำประกาศที่เรียกว่าพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เนสเซลโรเดได้เป็นผู้ อำนวยการวิทยาลัยการต่างประเทศ และต่อมาเมื่อเคานต์คาโปดิสเตรีย (Count Copodistria) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเขาร่วมทำงานด้วยเกษียณอายุราชการใน ค.ศ. ๑๘๒๒ เนสเซลโรเดก็ดำรงตำแหน่งสืบแทน
     เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* ขึ้นครองราชย์ภายหลังเหตุการณ์กบฏเดือนธันวาคม (Decembrist Revolt)* ค.ศ. ๑๘๒๕ เนสเซลโรเดสนับสนุนรัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลในดินแดนในปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี การขยายอิทธิพลดังกล่าวทำให้ปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในเวลาต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ รัสเซียและตุรกีจึงทำสนธิสัญญาอุนเคียร์สเกเลสซี (Unkiar Skelessi) โดยตุรกียอมรับบทบาทของรัสเซียในการเป็นผู้พิทักษ์ตุรกี อังกฤษพยายามทำให้ข้อตกลงในสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะและประสบความสำเร็จในการประชุมว่าด้วยปัญหาช่องแคบ (Straits Convention) ที่กรุงลอนดอน ค.ศ. ๑๘๔๑ เนสเซลโรเดก็มีส่วนดำเนินการในการประชุมครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษ รัสเซียยอมยกเลิกข้อตกลงในสนธิสัญญาค.ศ.๑๘๓๓ และยอมให้ตุรกีปิดช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* และ บอสฟอรัส (Bosphorus)* โดยไม่ยอมให้เรือรบของชาติใด ๆยกเว้นเรือสินค้าและเรืออื่น ๆ แล่นผ่านในภาวะปรกติ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษจึงดีขึ้น
     เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* เพื่อล้มล้างรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* การปฏิวัติได้ขยายตัวไปทั่วยุโรปจนเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ลายอช คอชุท (Lajos Kossuth)* ปัญญาชนชาวฮังการีได้เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austria Empire)* เนสเซลโรเดเสนอให้รัสเซียเข้าช่วยออสเตรียปราบปรามการปฏิวัติในฮังการี การเข้าแทรกแซงของรัสเซียดังกล่าวจึงมีส่วนทำให้นานาประเทศเข้าใจว่า รัสเซียเป็นชาติมหาอำนาจที่เข้มแข็งมากที่สุดในยุโรปในขณะนั้น หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เป็นต้นมา เนสเซลโรเดพยายามผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามแต่นโยบายของเขาล้มเหลว เพราะรัสเซียขัดแย้งกับตุรกีและนำไปสู่การเกิดสงครามไครเมียในที่สุด อย่างไรก็ดี หลังจากที่รัสเซียปราชัยในสงครามไครเมียใน ค.ศ. ๑๘๕๖ เนสเซลโรเดก็พ้นจากตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นอัครเสนาบดีแห่งจักรวรรดิอยู่ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๔๕ ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นเคานต์
     เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต เนสเซลโรเดถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๒ ขณะอายุ ๘๒ ปี.



คำตั้ง
Nesselrode, Karl Robert, Count
คำเทียบ
เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต เนสเซลโรเด
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาอุนเคียร์สเกเลสซี
- ปัญหาช่องแคบ
- ปัญหาตะวันออก
- บอสฟอรัส
- นิโคลัสที่ ๑, ซาร์
- คำประกาศพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์
- สงครามไครเมีย
- เนสเซลโรเด, เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- คาโปดิสเตรีย, เคานต์
- นิกายอังกฤษ
- ปอล, ซาร์
- บูร์บง, ราชวงศ์
- ระบบภาคพื้นทวีป
- ลิโวเนีย
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- เวสต์ฟาเลีย, แคว้น
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- วาซิลเยวิช, คาร์ล โรเบียร์ต
- สนธิสัญญาทิลซิท
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- เอลบา, เกาะ
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- กบฏเดือนธันวาคม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘
- คอชุท, ลายอช
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1780-1862
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๒๓-๒๔๐๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf